skip to Main Content

เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า “สถาบันราชภัฏ” และมีพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ซึ่งได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 4 ก เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2538 สถานภาพของสถาบันราชภัฏเป็นส่วนราชการในสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะสูงกว่ากองแต่ต่ำกว่ากรม เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องกระทำบทบาทภารกิจตามกฎหมายไม่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยทั้งหลายของรัฐโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขา หลายปริญญา และสามารถจัดการศึกษาได้ จนถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้งมีหน้าที่ปฏิบัติการวิจัย ให้การบริการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเรื่องอื่นใดที่เป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัย แต่สถาบันราชภัฏทุกแห่ง มิได้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเหมือนมหาวิทยาลัย และในปีงบประมาณ 2540 – 2542 สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ได้จัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 41 แห่ง

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 23 ก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป ส่งผลให้สถาบันราชภัฏเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการบริหารจัดการภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏฉบับดังกล่าว กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู และมีภาระหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาสากล
  2. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและผูกพัน ต่อท้องถิ่นอีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตดังกล่าว จะต้องให้มีจำนวนและคุณภาพสอดคล้องกับแผนการผลิตบัณฑิตของประเทศ
  3. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่า ความสำนึก และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
  4. เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและนักการเมืองท้องถิ่นให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
  5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
  6. ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
  7. ศึกษาและแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น รวมถึงการแสวงหาแนวทาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
  8. ศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏอาจจัดแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานอธิการบดี สำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย และอาจให้มีศูนย์ ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งในส่วนราชการที่กล่าวมาอาจแบ่งส่วนราชการเป็นกอง สำนักงานคณบดี สำนักงานผู้อำนวยการ และอาจมีส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง และอาจแบ่งส่วนราชการในสำนักงานคณบดี สำนักงานผู้อำนวยการ กอง ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่อที่มีฐานะเทียบเท่ากอง และตามกฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2548 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 72 เล่ม 122 ตอนที่ 20 ก วันที่ 8 มีนาคม 2548 ให้จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ คือ สำนักงานอธิการบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนและวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว

ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 25 เล่ม 123 ตอนที่ 74 ง วันที่ 3 สิงหาคม 2549 มีการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี ออกเป็น 3 กอง คือ กองกลาง กองนโยบายและแผน และกองพัฒนานักศึกษา และประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ข้อ 2 มีการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดีออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริหารงานบุคคลและกลุ่มบริหารงานคลังและพัสดุ

กองกลาง สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการ ติดต่อประสานงาน ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป งานธุรการ งานช่วยอำนวยการและเลขานุการ งานยานพาหนะ งานรักษาความปลอดภัย และงานประชาสัมพันธ์

Back To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า